วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

เฟื่องฟ้าเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มกึ่งเลื้อย ขนาดตั้งแต่พุ่มเล็กถึงพุ่มใหญ่ มีหนามขึ้นตามลำต้นอยู่ เฟื่องฟ้าเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มกึ่งเลื้อยอายุยืนหลายสิบปี ขนาดตั้งแต่พุ่มเล็กถึงพุ่มใหญ่ มีหนามขึ้นตามลำต้นอยู่ เหนือใบ (คลังปัญญาไทย,  2550)

                ลำต้น
                เฟื่องฟ้าเป็นไม้ยืนต้นชนิดไม้พุ่มกึ่งเลื้อย จึงจัดเป็นไม้ประเภทเนื้อแข็ง มีหนามขึ้นตามลำดับเหนือก้านใบ หนามของเฟื่องฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นที่เปลี่ยนแปลงมา ดังนั้นจึงยังคงมีท่อน้ำและท่ออาหาร  ลำต้นของเฟื่องฟ้าประกอบด้วยเนื้อไม้ตรงกลางลำต้นและเนื้อไม้ในชั้นต่อ ๆ มา ต่อด้วยเยื่อเจริญซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ อยู่รอบเนื้อไม้ คอยสร้างความเจริญเติบโต โดยมีเปลือกอยู่ด้านนอกสุด มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงค่อนข้างดำ ส่วนกิ่งอ่อนมีลักษณะเรียวเล็ก เปลือกบาง ลอกเปลือกออกได้ยาก

                ใบประดับ
                ใบของเฟื่องฟ้ามีลักษณะเป็นใบเดี่ยว มีขนปกคลุมเล็กน้อยใบจะแตกสลับกับกิ่ง เนื้อใบมีทั้งสีเขียวและสีด่าง ลักษณะใบรีแหลมออกทางปลาย มีความยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ใบประดับของเฟื่องฟ้ามีสีหลากสี เพื่อช่วยดึงดูดให้แมลงมาช่วยผสมพันธุ์ ใบประดับของเฟื่องฟ้ามีลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือรูปไข่ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-5 ใบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ตรงส่วนฐานของใบประดับจะอยู่รวมกัน ทำหน้าที่แทนกาบรองใบ สีสันของใบประดับนั้นสวยงามมากและมีอยู่หลายสี จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกลีบดอก โดยบางดอกนั้นมีใบประดับถึง 2 หรือ 3 สี มีความยาวประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร

                ดอก
                ดอกของเฟื่องฟ้ามีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ไม่มีกลีบดอก มีเพียงกลีบเลี้ยง ที่เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบเลี้ยงแยกเป็น 5 กลีบ ในแต่ละพันธุ์ก็มีสีสันแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วมีสีตัดกันกับสีของใบประดับคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าดอกคือเกสรและใบประดับคือกลีบดอก
                เฟื่องฟ้ามีดอกแบบ simple cyme หรือ compound cyme โดยในช่อดอกหนึ่งมีดอกอยู่ 3 ดอกในหนึ่งชุดใบประดับ ดอกของเฟื่องฟ้าจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ  คือ มีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่บางดอกมีเฉพาะเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมีย จึงจัดเป็นดอกไม่สมบูรณ์ ภายในของดอกมีรังไข่ซึ่งมีเมล็ดอ่อน 1 เมล็ด ล้อมรอบด้วยโครงสร้างคล้ายรูปถ้วย อันเป็นที่เกิดก้านเกสรเพศผู้และอับละอองเรณู

                ผล
                เฟื่องฟ้าเป็นพืชที่มีการผสมตัวเองได้ เมื่อเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียผสมกันจนติดแล้ว จะเกิดการขยายตัวของรังไข่และเจริญเป็นผล ซึ่งภายในผลมีเพียงเมล็ดเดียวมีเปลือกแข็ง โดยเม็ดจะติดกับเปลือกเป็นจุดเดียว


ชนิดของเฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้าเป็นไม้ที่มี 2 ชนิด หรือ 2 species ดังนี้
                1. Bougainvillea glabra and varieties เฟื่องฟ้าชนิดนี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิม มีลักษณะทั่ว ๆ ไปคือ ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มแผ่ขยายออกกว้างเต็มที่ มีความสูงประมาณ 10 ฟุต จึงนิยมปลูกในกระถางเพื่อบังคับให้เป็นไม้ดัดหรือไม้พุ่มเตี้ย เจริญเติบโตได้ดีทั้งในโรงเรือนและกลางแจ้งลำต้นมีหนามน้อย สามารถออกดอกได้ตั้งแต่ต้นยังเล็ก ใบประดับเป็นรูปไข่ มีสีแดงเข้มหรือสีอื่น ๆ สามารถมองเห็นเส้นใบชัดเจน ใบประดับบางพันธุ์มีสีขาว จึงเรียกว่า Snow White ดอกมีสีเหลือง มีลักษณะคล้ายท่อ (สมควร  ดีรัศมี,  2542,  หน้า 25)
                เฟื่องฟ้าชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ คือ
                1.1 Bougainvillea peruviana พบมากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ ลักษณะใบเรียบ ในประดับมีสีแดงกุหลาบ ส้ม เหลือง ม่วง จัดเป็นพันธุ์ลูกผสมของ Bougainvillea glabra
                1.2 Bougainvillea glabra Var. sanderiana มีพันธุ์ Crimson Lake เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ใบประดับมีสีกุหลาบอมชมพู การขยายพันธุ์ทำได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เพียงวิธีการตอนเท่านั้น
                1.3 Bougainvillea glabra “Salmonea” ใบประดับมีสีส้มอ่อน
                1.4 Bougainvillea glabra “Paper Flower” ใบประดับมีสีชมพูแก่
                2. Bougainvillea spectabilis and varieties เฟื่องฟ้าชนิดนี้เป็นพันธุ์ดั้งเดิมเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตในภูมิประเทศที่แห้งแล้งลำต้นมีลักษณะเป็นพุ่มสูงใหญ่ ช่อดอกมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับใบประดับ สีสันของใบประดับนั้นสวยงามมาก ที่โดดเด่นคือพันธุ์  Rosenda ซึ่งมีใบประดับสีม่วงแกมเขียว (สมควร  ดีรัศมี,  2542,  หน้า 26)
                เฟื่องฟ้าชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ คือ
2.1 Bougainvillea spectabilis Var. Lateritia ใบประดับมีสีแดงหรือสีส้มจนถึงแดงเข้ม การขยายพันธุ์ต้องใช้วิธีการตอนเท่านั้น
2.2 Bougainvillea spectabilis Var. Parvijlora ใบประดับมีสีม่วง
                2.3 Bougainvillea spectabilis “Alba Plena” ใบประดับมีลักษณะเป็นช่อ หรือมีขนาดเล็กซ้อนกันอยู่จำนวนมาก ส่วนใบมีสีขาวอมเขียว ขอบใบมีสีชมพู
                2.4 Bougainvillea spectabilis “Manila Majic Pink” ใบประดับมีสีบานเย็น ออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่



พันธุ์เฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้าพันธุ์ต่างประเทศ ได้แก่
                1. Manila Red ชื่อในวงการไม้ประดับไทย คือ แดงมะนิลา เป็นเฟื่องฟ้าชนิดสเป็คตาบิลิส ลักษณะใบรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างตรง ขอบใบเรียบผิวใบมีขนสั้น ๆ ใบประดับมีสีแดงเข้มหรือแดงแกมม่วง
                2. Mary Palmer พันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันในเมืองไทยว่า พันธุ์ฮาวาย หรือ มาลัยสองสี ลักษณะใบเป็นรูปไข่แกมรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบประดับมี 2 สี สีหนึ่งคือสีขาวอีกสีหนึ่งคือสีแดงบานเย็น
                3. Thimma พันธุ์นี้มีชื่อเรียกกันทั่วไปคือ มาลัยด่างสองสี ลักษณะใบเป็นรูปไข่มีสีเขียวหรือเขียวอมเหลือง ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมหรือมน ขอบใบเรียบ ใบประดับมีหลายสี ได้แก่ สีแดงแกมม่วงหรือสีขาว หรือสองสีในใบประดับเดียวกัน
4. Harrisii ไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย ลักษณะใบเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเรียว ขอบใบเรียบ ใบประดับมีสีม่วงแดง แผ่นใบประดับมีรูปรี ปลายแหลม
                5. Crimson Lake ชนิดนี้ออกสีแดงสด สวยงามมากเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน มีใบประดับดอกซ้อนกันถึง 3 ชั้นหรือมากกว่า
                6. Columbena Purple พันธุ์นี้ใบประดับสีม่วงสว่าง ราคาค่อนข้างสูง
                7. Orange King ชนิดนี้มีดอกไม่มากนักมักมีดอกเฉพาะบริเวณส่วนยอดตอนปลาย ๆ กิ่ง ใบประดับมีสีส้มอ่อน ๆ หรือเหลืองแกมแดง ราคาค่อนข้างถูกกว่าเฟื่องฟ้าพันธุ์อื่น
                8. Miggi Ruser ใบประดับมีสีเหลืองอร่าม มีดอกไม่มากนัก ใบประดับมีขนาดเล็ก
                9. Gruss Aus Budenweiler มีใบประดัมสีชมพูสด ออกดอกงามมาก มีใบประดับขนาดกลาง ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
                นอกจากนี้ยังมีเฟื่องฟ้าผสมชนอดที่มีใบประดับละเอียด มองเห็นเป็นฝอย เกาะกันเป็นกระจุกกลม ๆ ติดอยู่ตามกิ่ง พวกนี้เรียกว่า ฟรอสม์-ฟรี-โซน (Frostfree-Zone) หรือ เฟื่องฟ้าเจ้าเงาะ ในเมืองไทยมีมากมายหลายพันธุ์ ได้แก่
10. Crimson Jewel มีใบประดับสีแดงสด ออกดอกเกาะกันเป็นระยะ ๆ
                11. Scarlett O’ Hara มีใบประดับสีแสด
พันธุ์เฟื่องฟ้าในประเทศไทย พันธุ์เฟื่องฟ้าที่มีอยู่และนิยมปลูกในเมืองไทยขณะนี้ มีกำเนิดมาด้วย 3 วิธี คือ
                1. การนำพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศ
                2. การกลายพันธุ์จากตา
                3. การกลายพันธุ์จากเมล็ด
                สำหรับพันธุ์เฟื่องฟ้าที่ปลูกกันในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมีดังนี้
                1. พันธุ์สุมาลี
                2. พันธุ์สุมาลีดอกใหญ่
                3. สุมาลีใบด่าง
                4. พันธุ์สุมาลีสยาม
                5. สุมาลีสีทอง
                6. สุมาลีขาวดอกใหญ่
                7. พันธุ์สาวิตรี
                8. พันธุ์สาวิตรีใบสีเงิน
                9. สาวิตรีศรีสยาม
                10. สาวิตรีด่างขอบเหลือง
                11. สาวิตรีด่างขอบขาว
                12. แดงบานเย็น
                13. ด่างส้มเข้ม
                14. ศศิวิมล
                15. พันธุ์ด่างส้มอ่อน
                16. แดงจินดา
                17. เหลืองไพล
                18. เหลืองอรทัย
                19. ส้มจ่า
                20. แดงจ่า
                21. แดงสมประสงค์
                22. ส้มจินดา
                23. ชมพูทิพย์
                24. ชมพูทิพย์ใบเขียว
                25. สุวรรณี
                26. สุวรรณีสีทอง
                27. สุมาลีดอกสีเข้ม
                28. สุมาลีสีขาว
                29. ม่วงประเสริฐศรี
                30. ม่วงประเสริฐศรีด่างขาว
                31. ม่วงประเสริฐศรีด่างมาก
                32. ม่วงประเสริฐศรีด่างเหลือง
                33. ทัศมาลี
                34. ทัศมาลีด่างดอกขาว
                35. ราชินีหินอ่อน
                36. มาลัย
                37. ผกากานต์
                38. พันธุ์ดอกสีอิฐ
                39. พันธุ์ดอกสีเหลือง


การปลูกเฟื่องฟ้า
การปลูกเป็นไม้กระถาง
                ภาชนะหรือกระถางที่นิยมใช้ปลูกเฟื่องฟ้ามีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างภาชนะกับขนาดลำต้น โดยส่วนใหญ่นิยมใช้กระถางที่มีขนาดตั้งแต่ 8-12 นิ้วขึ้นไป หากต้นเฟื่องฟ้ามีขนาดใหญ่ก็เปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นต่อไป
                การบรรจุดินปลูกลงในภาชนะมีขั้นตอนดังนี้
                1. นำเศษกระถางแตกหรือเศษไม้วางปิดรูกระถางเพื่อป้องกันไม่ให้ดินปลูกหลุดออกไป
                2. นำทรายหยาบรองก้นกระถางต่อจากเศษกระถางแตกหรือเศษไม้
                3. นำดินปลูกใส่ลงไปจนเต็มกระถาง เวลารดน้ำดินปลูกจะยุบลงต่ำกว่าขอบกระถางเล็กน้อย
                เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว ก็นำต้นที่เตรียมไว้ลงปลูกได้ทันทีทั้งนี้ต้องระวังไม่ให้รากช้ำหรือได้รับความกระทบกระเทือน หลังจากปลูกแล้วควรรดน้ำให้ชื้นพอประมาณวันละ 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการรดน้ำที่สุดก็คือ เวลาเช้าที่มีแสงแดด (สมควร ดีรัศมี, 2542, หน้า 46-50)
การปลูกลงดิน
                การปลูกเฟื่องฟ้าลงดินก็ต้องมีการเตรียมดิน เช่นเดียวกับการปลูกลงกระถาง ดินต้องมีลักษณะเหมาะสม คือ ระบายน้ำได้ดีพอสมควร
                ในการปลูกเฟื่องฟ้าลงดินต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อันได้แก่ สถานที่ วัตถุประสงค์ ต้นพันธุ์ โดยเลือกสถานที่ที่รับแสงแดดตลอดวัน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ส่วนการเลือกพันธุ์ก็ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอยหรือวัตถุประสงค์พร้อมทั้งสภาพแวดล้อม ซึ่งได้แก่ การปลูกเป็นรั้ว การปลูกเป็นซุ้มประตู การปลูกคลุมเนินหรือที่ลาด การปลูกเป็นพุ่มไม้ การปลูกเป็นไม้เลื้อย การปลูกแบบสแตนดาร์ด การปลูกเป็นพุ่มคลุมดิน  เมื่อปลูกเฟื่องฟ้าลงดินระยะหนึ่งจนได้ระดับความสูงที่ต้องการ ตัดกิ่งที่เหลือออกทั้งหมดและตัดยอดกิ่งกระโดง เพื่อกระตุ้นให้แตกกิ่ง นำเหล็กที่ดัดเป็นรูปร่มไว้บริเวณยอดของเฟื่องฟ้าเป็นที่พักพิงของต้นและกิ่ง หากกิ่งยังอ่อนให้ผูกติดกับโครงเหล็กดัด โดยเว้นระยะให้ห่างพอสมควรและห่างออกจากแกนกลางด้วย หมั่นตัดแต่งกิ่งให้อยู่ในรูปทรง หากกิ่งยาวก็ตัดให้ได้ระดับพุ่ม (สมควร ดีรัศมี, 2542, หน้า 53-57)


เทคนิคในการปลูกเฟื่องฟ้า
เทคนิคการบังคับให้ออกดอก
          การบังคับให้เฟื่องฟ้าออกดอกขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง คือ น้ำ แสงแดด ปุ๋ย และการตัดแต่งกิ่ง (สมควร  ดีรัศมี, 2542, หน้า 58)
                น้ำมีผลอย่างมากต่อการออกดอกของเฟื่องฟ้า ดังนั้นการให้น้ำอย่างเหมาะสมจึงสำคัญอย่างยิ่ง โดยก่อนอื่นผู้ปลูกเลี้ยงต้องดูว่าเฟื่องฟ้าออกดอกในช่วงเดือนไหนมากที่สุด สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร (ในกรณีที่ปลูกลงดิน)  เฟื่องฟ้ามักออกดอกมากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน  ในฤดูฝนเฟื่องฟ้าอาจออกดอกบ้างประปรายจนถึงไม่ออกดอกเลย เนื่องจากได้รับน้ำมาตลอดฤดู ใบอ่อนก็จะแตกออกมารุ่นแล้วรุ่นเล่า มีการแตกกิ่งก้านสาขาและใบดกแทนการออกดอกสะพรั่ง  ในการตัดแต่งกิ่งนี้ควรทำหลังจากที่ดอกโรยแล้วหรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน 1 เดือน โดยตัดแต่งให้เสมอพร้อมกันทั่วต้น ควรระวังไม่ให้กิ่งกระโดงแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างไร้จุดหมายเพราะนอกจากจะทำให้เสียรูปทรงของพุ่มต้นแล้ว ยังทำให้เฟื่องฟ้ามีตำแหน่งการเกิดดอกไม่หนาแน่นพอ เมื่อถึงช่วงดอกออกมาจะไม่บานสะพรั่งเต็มต้น
                เทคนิคการบังคับให้ออกดอกที่ใช้กับเฟื่องฟ้านี้เน้นเรื่องการหยุดรดน้ำในฤดูออกดอกควบคู่กับการให้ปุ๋ย โดยต้องคำนึงถึงการบำรุงเลี้ยงต้นและใบให้สมบูรณ์ต่อไป หมุนเวียนเช่นนี้ทุกปี
                เมื่อสิ้นฤดูฝน สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการกำจัดวัชพืช และทำความสะอาดบริเวณโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น ในช่วงนี้ต้องงดให้น้ำจนกว่าเฟื่องฟ้าจะออกดอกและรอจนกว่าใบจะร่วงเกือบหมดต้น จากนั้นจึงค่อยให้น้ำเต็มที่วันละครั้งจนกว่าต้นจะออกดอกตุ่มเล็ก ๆ แล้วหยุดให้น้ำอีกจนกว่าดอกจะบาน ลมหนาวจะช่วยกระตุ้นการออกดอกให้ดีขึ้น
          ข้อควรระวังก็คือ เมื่อใบร่วงจนเกือบหมดต้น อย่าปล่อยให้แห้งแล้งแล้วรอให้ออกดอกเอง ควรรีบรดน้ำทันที เพราะน้ำจะช่วยกระตุ้นให้เกิดตาดอกพร้อมกันทั่วต้น  เทคนิคการบังคับให้ออกดอกนี้ใช้ได้ผลอย่างดีในไม้กระถาง แต่ถ้าปลูกลงดินจะบังคับได้ไม่ดีนัก
                ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หากต้องการให้ก็ต้องควบคุมด้วย เพราะมีธาตุไนโตรเจนสูง ควรกะปริมาณให้พอดี ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้เฟื่องฟ้าเฝือใบหรือบ้าใบ และถ้าตกค้างอยู่ที่โคนต้นมากเกินไปจะทำให้การบังคับให้ออกดอกไม่ได้ผล
                การตัดแต่งกิ่งมีส่วนช่วยให้เฟื่องฟ้าออกดอก เพราะการตัดแต่งกิ่งนอกจากจะช่วยควบคุมพุ่มต้นให้อยู่ในรูปทรงที่ต้องการแล้วยังช่วยให้ออกดอกได้ดีอีกด้วย
เทคนิคการทำให้ดอกบานได้นาน
                การบังคับหรือการทำให้ดอกเฟื่องฟ้าบานได้นานนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ มากมาย โดยธรรมชาติแล้วเฟื่องฟ้าจะออกดอกบานอยู่ได้หลายวัน แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้เฟื่องฟ้าบานได้ไม่นาน คือเหี่ยวเฉาและร่วงหล่นจากต้นก่อนถึงเวลาอันสมควร  แสงแดดมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการบังคับให้เฟื่องฟ้าออกดอกควรปลูกเฟื่องฟ้าไว้ในที่ที่ถูกแดดทั้งวัน หรือไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง แสงแดดจะช่วยให้การออกดอกได้ดีขึ้น ในทางกลับกันหากปลูกเฟื่องฟ้าไว้เฉพาะในที่ร่ม โอกาสที่เฟื่องฟ้าจะออกดอกนั้นน้อยมาก (สมควร  ดีรัศมี, 2542, หน้า 61)
                ปุ๋ยเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเฟื่องฟ้า ทั้งในเรื่องของลำต้น ใบ และดอก แต่ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการ
                การให้ปุ๋ยแก่ต้นเฟื่องฟ้าควรทำดังนี้
                1. ให้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง เช่น 30-20-10 หรือสูตรเสมอ 15-15-15 ที่ช่วยในการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ในช่วงที่ดอกโรยและผ่านการตัดแต่งกิ่งแล้ว 1 ครั้ง โดยกะให้ในปริมาณที่พอเหมาะหรือกะให้ใช้หมดพอดีในช่วงที่ออกดอกในฤดูกาลต่อไป
                2. ให้ปุ๋ยสูตรตัวกลางสูง เช่น 10-20-10 ในช่วงสิ้นฤดูฝนเพื่อช่วยในการฟักตัวก่อนออกดอก แต่ถ้าเป็นในกรณีที่อยากให้ออกดอก แต่ใบยังไม่ร่วงและไม่ต้องการให้ใบร่วงจนหมดต้นก็ให้ใส่ปุ๋ยตัวกลางสูงอย่าง 10-52-17 ผสมกับน้ำยาจับใบฉีดพ่นให้ทั่วต้น ก่อนออกดอก 1-2 เดือนโดยฉีดทุก ๆ 15 วัน
                3. การลดปริมาณปุ๋ยตัวหน้า (ไนโตรเจน) ลงแล้วเพิ่มปริมาณปุ๋ยตัวกลาง (ฟอสฟอรัส) นั้นเป็นหลักพื้นฐานของการให้ปุ๋ยก่อนออกดอก เนื่องจากไนโตรเจนมีคุณสมบัติช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ
                ดังนั้นหากต้องการหยุดการเจริญเติบโตทางด้านนี้ลงก็ต้องลดบทบาทไนโตรเจนลง ส่วนฟอสฟอรัสมีคุณสมบัติช่วยในการฟักตัวเพื่อเตรียมการออกดอก
                4. ในการให้ปุ๋ยควรสัมพันธ์กับน้ำ เนื่องจากปุ๋ยจะเป็นประโยชน์ต่อต้นไม้ก็ต่อเมื่อผ่านการลำเลียงร่วมไปกับน้ำตามท่อลำเลียงน้ำ หากไม่รดดินจะแห้งผาก ใส่ปุ๋ยลงไปก็ไม่ได้ผล แต่ในทางตรงกันข้ามหากรดน้ำมากเกินไป น้ำนั้นก็จะชะปุ๋ยออกไป อาจสูญเสียประโยชน์ได้อีกเช่นกัน
                5. การใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ควรใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดอย่าใช้ในปริมาณที่เข้มข้นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นตายได้ ถ้าเป็นการให้ปุ๋ยทางใบก็ควรระวังในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะใบอาจไหม้ได้ การให้ปุ๋ยควรให้ในช่วงที่แดดอ่อน ๆ
                ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงได้แก่ น้ำ ปุ๋ย ลักษณะของใบประดับ สภาพดินฟ้าอากาศ
                ในเรื่องของน้ำนั้นหากผู้ปลูกเลี้ยงสามารถบังคับให้ใบร่วงจนเกือบหมดต้นและรดน้ำเพื่อให้ตา ใบ และดอก แตกออกมาแล้ว ก็ควรหยุดรดน้ำ รอจนกระทั่งดอกเริ่มบาน ถ้าเห็นว่าดินแห้งจนเกินไปก็รดน้ำอีกครั้ง แต่ควรรดน้ำในปริมาณน้อย โดยพ่นฝอยน้ำลงรอบ ๆ โคนต้นพอให้ดินชื้นควรระวังไม่ให้น้ำถูกดอก เพราะดอกอาจร่วงหล่นได้
                การใส่ปุ๋ยเองก็เช่นกัน ผู้ปลูกเลี้ยงไม่ควรใส่ปุ๋ยอีก ถ้าในการบังคับให้ออกดอกได้ใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องตามขั้นตอนไปแล้ว
                อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการบานของดอกได้แก่สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน การออกดอกพร้อมกันทั้งต้นจะบานและร่วงหล่นไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ส่วนต้นที่ทยอยออกดอก ดอกจะทยอยร่วงหล่น แต้ถ้าลมแรงพัดกระโชกก็สามารถทำให้ดอกร่วงหล่นได้ก่อนถึงเวลาเช่นกัน


การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้า
การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าในสภาพการปลูกเลี้ยงในประเทศไทย อาศัยวิธีการขยายพันธุ์โดยไม่ผ่านกระบวนการทางเพศ ซึ่งทำได้ 3 วิธี คือ การปักชำ การตอน และการเสียบยอด
                การปักชำ  เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด โดยการนำกิ่งเฟื่องฟ้าไปปักชำในวัสดุเพาะชำ เช่น ทรายหรือขี้เถ้าแกลบ แล้วรักษาความชื้นอยู่เสมอรากจะงอกภายในเวลา 3-4 อาทิตย์ หรือไม่เกิน 1 เดือนก็สามารถนำไปปลูกได้วิธีที่ปฏิบัติกันทั่วไปมีดังนี้
                1. วัสดุเพาะชำ  นิยมใช้ขี้เถ้าแกลบ 5 ส่วน กับดินป่นละเอียด 1 ส่วนผสมขี้เถ้าแกลบและดินป่นให้เข้ากัน พรมน้ำลงไปผสมพอหมาด ๆ นำไปบรรจุลงถุงเพาะชำ
                2. ถุงเพาะชำ  ที่นิยมใช้มากที่สุด คือถุงพลาสติกสีดำ ขนาด 3x5 นิ้ว นำมาเจาะรู 2 รู ขนาดรูกว้าง 1 เซนติเมตร เจาะห่างจากโคนถุง 1 นิ้วทั้งสองด้านของถุง เสร็จแล้วนำวัสดุเพาะชำที่ผสมจนเข้ากันดี บรรจุลงในถุงพลาสติกจนเต็มพอดีถุงจากนั้นจึงบรรจุถุงนี้ลงไปในกระบะไม้ขนาด 30x60x10 เซนติเมตร
                3. โรงเพาะชำ  สร้างด้วยวัสดุอะไรก็ได้ ขนาดของโรงเรือนกว้างยาวเท่าใดขึ้นอยู่กับสถานที่และความต้องการ แต่โดยทั่วไปนิยมสร้างสูงไม่เกิน 2 เมตร เพื่อให้โรงเรือนมีความชุ่มชื้นได้เต็มที่ หลังคาทำเป็นรูปหน้าจั่ว
                4. กิ่งพันธุ์  ส่วนที่ได้ผลดีที่สุดคือ ส่วนยอด วิธีการเลือกกิ่งสำหรับนำไปปักชำนั้นจะต้องเลือกกิ่งที่อยู่ในสภาพกิ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว การตัดส่วนโคนของกิ่งที่จะนำมาชำควรจะตัดบริเวณข้อ (ตา) หรือต่ำกว่าเล็กน้อย ช่วงเวลาในการตัดชำควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็น และกิ่งที่จะตัดชำต้องฉีดน้ำให้ชื้นเพื่อให้สดชื่นอยู่ตลอดเวลา นำกิ่งพันธุ์ที่ตัดมาจากต้นแม่ ตัดเป็นท่อน ๆ เป็นแนวเฉียงเป็นรูปปากฉลามแต่ละท่อนยาว 4-6 นิ้ว
                นำกิ่งปักชำจุ่มส่วนโคนลงในฮอร์โมนเร่งราก แล้วปักลงไปในวัสดุเพาะชำให้ลึกประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวกิ่ง รากจะออกบริเวณปลายที่ตัดและปักอยู่ เมื่อเห็นว่ากิ่งปักชำออกรากมากและรากแก่พอสมควรแล้ว ให้นำกระบะเพาะชำออกมาจากโรงเรือน นำไปตั้งไว้ภายนอกหรือในที่ร่มรำไร 1 วัน จึงย้ายออกแดดจัดอีก 1 วัน เพื่อทำให้ต้นกล้าแกร่งจากนั้นจึงย้ายนำไปปลูกลงในกระถาง
                การเสียบยอด  การเสียบยอดนี้ไม่ใช่การขยายพันธุ์โดยตรง แต่เป็นการเปลี่ยนพันธุ์ของต้นตอให้เป็นพันธุ์ใหม่ ที่มีความงามเพิ่มมากขึ้น สามารถทำให้ต้นตอที่ปลูกในกระถางมีพันธุ์เฟื่องฟ้าหลายพันธุ์อยู่บนต้นตอเดียวกันเกิดความสวยงามจากสีสันของดอกที่แตกต่างกัน ซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้
                1. นำต้นตอที่มีขนาดใหญ่ที่มีอายุมาก ขุดออกมาทั้งราก ตัดยอดและใบออก เหลือแต่กิ่งใหญ่ ๆ ที่โคนซึ่งมีรากใหญ่ ๆ ติดอยู่เพียงเล็กน้อยนำมาปลูกลงในกระถางขนาดใหญ่ ชำต้นตอไว้ในกระถางประมาณ 3 เดือน
                2. สำหรับกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ที่จะนำไปเสียบบนต้นตอ  ควรเลือกยอดที่มีความแข็งแรงขนาดเท่า ๆ กัน ใช้กรรไกรตัดออกจากต้นแม่ ตัดปลายยอดให้สั้นเหลือตายอดยาวประมาณ 3 นิ้ว และควรมีตาติดอยู่ 2-3 ตา
                3. วิธีเสียบกิ่ง ใช้มีดโกนคม ๆ ผ่ากลางกิ่งต้นตอที่เลี้ยงไว้ ผ่าเป็นเส้นตรงลึก 3 เซนติเมตร ส่วนยอดพันธุ์ดีให้เฉือนเป็นรูปลิ่ม ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร จากนั้นเสียบยอดกิ่งพันธุ์ดีลงในรอยผ่าของต้นตอ จัดให้แนวเยื่อเจริญตรงกัน พันด้วยผ้าพลาสติกใสให้แน่น โดยพันจากล่างขึ้นบนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าและป้องกันการระเหยของน้ำ การเสียบยอดควรใช้ถุงพลาสติกคลุมกิ่ง ผูกเชือกรัดไว้ที่โคน คลุมทับด้วยถุงกระดาษอีกชั้นหนึ่งเพื่อลดความเข้มของแสง ประมาณ 10 วัน หลังจากเสียบยอดให้เปิดถุงกระดาษดูยอดที่เสียบว่ายังเขียวสดอยู่เช่นเดิมหรือไม่ ถ้าหากยอดเหี่ยวหรือช้ำแสดงว่าไม่ได้ผล ควรทำใหม่ หากยอดยังเขียวสดอยู่แสดงว่าได้ผล ปล่อยให้ตาแตกออกจากยอดพันธุ์ เอาถุงพลาสติกที่ครอบอยู่ออก ใช้มีดกรีดผ้าพลาสติกที่พันรอยแผลอยู่ออกเบา ๆ ปล่อยให้ยอดพันธุ์เจริญเติบโตออกดอกได้ต่อไป

                การตอน  การทำรอยแผลตอนทำได้ 2 วิธีคือ
                วิธีแรก  โดยการควั่นกิ่ง ใช้กับกิ่งเฟื่องฟ้าที่สามารถลอกเอาเปลือกออกได้ง่าย ใช้มีดคม ๆ ควั่นรอบกิ่งใต้ข้อหรือตาเล็กน้อย ห่างกัน 2 รอย แต่ละรอบห่างกันประมาณ 1-2 นิ้ว ควั่นเสร็จแล้วแกะเอาเปลือกออก
                วิธีที่สอง  สำหรับเฟื่องฟ้าบางพันธุ์ที่ไม่สามารถลอกเอาเปลือกออกได้หรือเพราะกิ่งเปราะมาก จึงใช้วิธีบากด้วยมีดคม ๆ จากล่างขึ้นบน บากเป็นแนวเฉียงรูปปากฉลามลึกเข้าไปประมาณ 1 ใน 4 ของกิ่ง ยาวประมาณ 4- 5 เซนติเมตร เสร็จแล้วใช้กาบมะพร้าวหรือดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ สอดค้ำไว้ตรงรอยบาก ใช้ฮอร์โมนเร่งรากมาตรงรอยแผล
                จากนั้นก็หุ้มส่วนที่ควั่นหรือบากเปลือกออกแล้วด้วยดิน ห่อด้วยใบตองแห้งหรือพลาสติก มัดหัวท้าย หลังจากตอนแล้ว กิ่งจะออกรากภายใน 2-3 สัปดาห์ รอจนแน่ใจว่ารากที่ออกมานั้นเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลเสียก่อนจึงค่อยตัดออก หลังจากตัดแล้ว นำไปชำไว้ในวัสดุเพาะชำ เพื่อให้กิ่งตอนแตกกิ่งก้านเพิ่มเติม จึงค่อยนำไปปลูก


การกลายพันธุ์ในเฟื่องฟ้า
ปัจจุบันเฟื่องฟ้าได้มีการผสมพันธุ์ใหม่ ๆ มากมาย โดยมีลักษณะเด่นที่มองเห็นได้จากริ้วประดับดอกมีสีด่าง ๆ รวมทั้งในต้น ๆ เดียวกันมีสองสี  นอกจากนี้ยังมีการผสมพันธุ์ใหม่ ๆ อีกหลายชนิด เช่น ชนิดพันธุ์แคระ ซึ่งมีลำต้นแข็งแรง ข้อสั้น ใบถี่มาก ดอกดก ช่อโต  เฟื่องฟ้าที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยนอกจากเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย การกลายพันธุ์เกิดได้ในเซลล์สีสองประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ เซลล์สืบพันธุ์ซึ่งสามารถสืบทอดลักษณะที่ผันแปรไปได้ โดยผ่านกระบวนการสืบพันธุ์ และประเภทที่สอง ได้แก่ เซลล์หรือเนื้อเซลล์ร่างกาย การกลายพันธุ์ประเภทที่สองนี้ในทางพืชสวนนิยมเรียกว่า บัดสปอร์ต (bud sport หรือ bud mutation) การกลายพันธุ์แบบบัดสปอร์ตช่วยให้เกิดพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าการผสมพันธุ์ ทั้งนี้เพราะเฟื่องฟ้าส่วนใหญ่เป็นหมัน ไม่ค่อยติดเมล็ด โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมเมืองไทย (วิจิตร  สุขสวัสดิ์, 2537, หน้า 36-37)
                การกลายพันธุ์แบบบัดสปอร์ตนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน เพราะลักษณะที่เปลี่ยนไปนั้นมีความแตกต่างไปจากลักษณะดั้งเดิมอย่างมากมายและเห็นเด่นชัด ซึ่งประเภทของการกลายพันธุ์แบบบัดสปอร์ตที่สำคัญ ๆ ในเฟื่องฟ้ามีดังนี้
1.ใบประดับเปลี่ยนสี   ใบประดับของเฟื่องฟ้านั้นมีหลากวีต่าง ๆ กัน การกลายพันธุ์ที่พบเสมอ ๆ เป็นปกติของเฟื่องฟ้าจึงมักเป็นเรื่องของสีของใบประดับ ซึ่งแต่ละสีก็จะมีการแปรปรวนแตกต่างกันไปได้อีกมากมาย
2. ใบเปลี่ยนรูปเป็นใบประดับ   บางครั้งจะพบว่าส่วนยอดซึ่งควรจะเป็นใบกลับกลายเป็นใบประดับแทน แต่กรณีนี้อาจพบได้น้อยมาก
3.ยอดแบน   มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายต้นหงอนไก่ สาเหตุเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือถูกโรคแมลงรบกวนเข้า   ทำลายพบได้น้อยมาดเช่นกัน
4. ขอสั้นดอกเป็นกระจุก    พบในพันธุ์สาวิตรี มีลักษณะใบและใบประดับเกิดขึ้นติดกันเป็นกระจุก มีขนาดเล็กกว่าปกติ
5. ใบประดับซ้อน   ลักษณะการซ้อนกันของใบประดับนั้นมีลักษณะคือ แทนที่จะมีใบประดับชั้นเดียว ก็เกิดมีการซ้อนกันหลายชั้น แต่ส่วนมากลักษณะเช่นนี้จะทำให้ขนาดของใบเล็กลงเนื่องจากมีใบประดับเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
6. ใบประดับสองสี   เกิดจากการกลายพันธุ์และการเกิดเนื้อเยื่อสองประเภทอยู่ด้วยกัน ทำให้สีบนใบประดับเปลี่ยนไป ซึ่งอาจเกิดบนใบประดับใบเดียวกัน
7. ใบด่าง    แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1.)        ด่างขอบนอก
2.)        ด่างภายใน
3.)        ด่างเป็นซีก
4.)        ด่างประ


ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเฟื่องฟ้า
แม้เฟื่องฟ้าจะเป็นพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่าย แต่หากเป็นการปลูกเพื่อการค้า หรือปลูกเป็นไม้ประดับอย่างสมบูรณ์ ก็ควรจะต้องดูแลเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นดินปลูก น้ำ สภาพอากาศ แสงแดด และปุ๋ย (สมควร ดีรัศมี, 2542, หน้า 34)
ดินปลูก
          จริงอยู่ที่ว่าเฟื่องฟ้าสามารถเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิดแต่ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเท่าที่ควรในดินเหนียวหรือดินทรายจัด เนื่องจากระบบรากของเฟื่องฟ้าไม่สามารถเจริญและหาอาหารได้ดี เพราะดินเหนียวมีการระบายน้ำไม่ดี และดินทรายจัดไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้ ธาตุอาหารก็มีน้อย  ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกเฟื่องฟ้ามากที่สุด ได้แก่ ดินร่วนซุย และดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี จัดอยู่ในประเภทของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ระดับปานกลางถึงดี


น้ำ
                แม้เฟื่องฟ้าเป็นไม้ทนแล้ง แต่น้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเฟื่องฟ้า โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ต้นเฟื่องฟ้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำมากจนเกินไป โดยควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับฤดูกาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ปลูกเลี้ยงด้วย หากเป็นในฤดูฝนที่มีฝนตกชุกก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ในบางครั้งก็จำเป็นต้องย้ายกระถางต้นไม้หลบฝนด้วย เพราะหากได้น้ำมากจนเกินไปอาจทำให้เฟื่องฟ้ามีใบมากกว่าที่จะออกดอกดก  การให้น้ำต้องคำนึงถึงอายุต้นเฟื่องฟ้าด้วย ผู้ปลูกเลี้ยงบางคนรดน้ำต้นเฟื่องฟ้าในปริมาณเท่ากันตั้งแต่ต้นยังเล็กจนถึงต้นอายุหลายปี อันที่จริงแล้วควรเพิ่มปริมาณน้ำแก่ไม้ด้วย
สภาพอากาศ
                เฟื่องฟ้าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศอบอุ่นถึงค่อนข้างร้อนชื้น สำหรับประเทศไทยสามารถปลูกเลี้ยงเฟื่องฟ้าได้ทั่วทุกภูมิภาค และยังปลูกได้ดีอีกด้วย ทำให้มีเฟื่องฟ้าพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในลักษณะของการกลายพันธุ์มากด้วย
แสงแดด
                เฟื่องฟ้าต้องการแสงแดดจัดในสภาพกลางแจ้งแต่ต้องการอุณหภูมิปานกลาง ถ้าได้รับแสงแดดไม่เพียงพอต่อความต้องการ สีเปลือก ลำต้นของเฟื่องฟ้าจะไม่สวยงามและสีของใบก็ไม่เข้มเท่าที่ควร รวมทั้งดอกก็มีจำนวนน้อยกว่าปกติ  การปลูกเฟื่องฟ้าจึงจำเป็นต้องปลูกในที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงแดดตลอดวัน หรือหากต้องการปลูกไว้ในที่ร่มหรือชายคาบ้าน ก็ต้องนำออกแดดทุกวัน อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
                ในกรณีที่ต้นตอกำลังแตกแขนง หรืออยู่ในช่วงปักชำ ควรนำไปไว้ในเรือนเพาะชำที่มีตาข่ายกรองแสงหรือมีที่ร่มรำไร ต่อมาเมื่อแตกกิ่งก้านสาขาหรือรากแข็งแรงดีพอแล้วก็นำออกมารับแสงแดดต่อไป
ปุ๋ย
                ปุ๋ยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเฟื่องฟ้านั้นสามารถแบ่งออกเป็นปุ๋ยที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทางต้น ทางใบ และปุ๋ยที่เหมาะสำหรับการเร่งดอก

การปฏิบัติดูแลรักษาเฟื่องฟ้า
การให้น้ำ  ในระยะแรกที่ต้นเฟื่องฟ้ายังอ่อนอยู่ ควรรดน้ำทุกวัน แล้วค่อยลดลงเหลือวันเว้นวันเมื่อต้นตั้งตัวได้มากขึ้น (วิจิตร  สุขสวัสดิ์, 2537, หน้า 67) การรดน้ำต้นที่โตแล้วควรรดเพียงวันละครั้ง เวลาที่เหมาะสมคือ ตอนเช้าและสาย ๆ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็รดตอนเย็น
                สำหรับต้นที่ปลูกลงในกระถาง ในระยะแรกของการรดน้ำก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกลงดิน คือ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อต้นโตพอสมควรควรงดการให้น้ำประมาณ 1 สัปดาห์และปล่อยให้ใบร่วง จากนั้นจึงให้น้ำใหม่เพื่อเร่งดอก แต่ในระหว่างที่ดอกบานควรให้น้ำแต่น้อยและนาน ๆ ครั้ง การให้น้ำมากและบ่อยเกินไปจะทำให้ดอกร่วงก่อนกำหนด ถ้าหากเฟื่องฟ้าขาดน้ำนาน ๆ อาจทิ้งใบทรุดโทรมถึงตายได้
                การใส่ปุ๋ย  จริงอยู่ที่เฟื่องฟ้าที่ปลูกลงดินอาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเลย แต่เมื่อมีคนนำเฟื่องฟ้ามาปลูกลงกระถาง ซึ่งมีดินและแร่ธาตุอาหารน้อย รากไม่สามารถแผ่ออกได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยให้กับเฟื่องฟ้าในบางระยะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
                ในระยะแรกหลังจากทำการขยายกิ่งชำลงในกระถางยังไม่ต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ แต่เมื่อต้นพันธุ์มีอายุได้ประมาณ 15-20 วัน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยยูเรียในอัตราครึ่งช้อนชา ก่อนใส่ปุ๋ยควรงดการให้น้ำ 1 วัน ใส่ปุ๋ยอย่าใส่ที่โคนต้น ควรโรยปุ๋ยเฉลี่ยให้รอบ ๆ ต้น จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยยูเรียในอัตราเดิมทุก ๆ ระยะ 10 วันอีก 3 ครั้ง จนถึงอายุ 2 เดือนค่อยเปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยสูตร 16-16-16 ในอัตรา 1 ช้อนชาต่อกระถาง
                เมื่อต้นเฟื่องฟ้าเจริญไปเรื่อย ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนกระถาง ถึงเวลาที่จะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์โดยใส่ประมาณ 2-3 กำมือต่อกระถาง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ประมาณ 2 ช้อนชาต่อกระถาง
การตัดแต่งกิ่ง  ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ต้นไม้มีขนาดเล็กลงเพียงอย่างเดียว แต่มีเพื่อปรับปรุงลักษณะและทำให้สภาพของต้นไม้ดีขึ้น
การบังคับให้เฟื่องฟ้าออกดอก  เฟื่องฟ้าที่ปลูกในกระถางสามารถบังคับให้ออกดอกได้ง่ายโดยการกักน้ำ คือ เมื่อเห็นว่าเฟื่องฟ้างอกงามดีแล้ว ให้หยุดรดน้ำสัก 7 วัน คะเนว่าใบเฟื่องฟ้าเหี่ยวเฉาและจะเริ่มทิ้งใบก็ให้เร่งรดน้ำใหม่ให้โชก ไม่กี่วันเฟื่องฟ้าจะผลิใบใหม่ออกมาพร้อมกับมีดอกพรูสะพรั่ง บางคนใช้วิธีเอียงกระถางหรือบิดลำต้น ก็ได้ผลเช่นกัน แต่วิธีการงดน้ำจะเป็นผลดีกับเฟื่องฟ้ามากกว่า

โรคและแมลงศัตรูของเฟื่องฟ้า
                เฟื่องฟ้าเป็นไม้ที่มีโรคและแมลงศัตรูเช่นเดียวกับไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่น แต่เฟื่องฟ้าโชคดีกว่าตรงที่มีโรคและแมลงไม่กี่ชนิดเป็นศัตรู ทั้งยังไม่สามารถสร้างความเสียหายจนถึงขนาดล้มตายลง
                โรคที่เกิดขึ้นกับเฟื่องฟ้ามีเพียงโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ Cercos poridium bouganinvillege ซึ่งทำให้เกิดจุดเล็ก ๆ บนใบของเฟื่องฟ้า จุดที่เกิดขึ้นมีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยจะเกิดอยุ่ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ จุดตรงด้านบนมีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีขาว มีวงสีน้ำตาลแกมแดงล้อมรอบเป็นวง อาการแบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก จนดูเหมือนว่าเป้นลักษณะธรรมชาติของเฟื่องฟ้า  เฟื่องฟ้าพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคใบจุดได้แก่ เฟื่องฟ้าชนิด Bougainvillea spectabilis โดยเฉพาะพันธุ์ Panama Pink พันธุ์ Afterglow พันธุ์ Golden Glow และพันธุ์ Crimson Lake อาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง ไม่ค่อยแสดงอาการ บางครั้งจะหายไปโดยไม่ต้องรักษา ส่วนพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้ได้ดีคือ เฟื่องฟ้าชนิด Bougainvillea glabra ที่นิยมปลูกเป็นไม้กระถางโดยเฉพาะไม้ดัด  แมลงที่เข้าทำลายเฟื่องฟ้านั้นไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรง แมลงที่ชอบกัดกินใบเฟื่องฟ้าได้แก่ แมลงปีกแข็ง พวกด้วงปีกแข็ง และพวกเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน พวกหนอนต่าง ๆ ที่จะกัดกินใบประดับจนทรุดโทรม ดูไม่สวยงาม และอาจทำให้เฟื่องฟ้าเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ
                หากพบว่าเกิดการเข้าทำลายของแมลงต่าง ๆ ในกรณีที่มีอาการน้อยก็ตัดกิ่งไม้ออกเสีย แต่ถ้ามีอาการก็ใช้สารเคมีฉีดพ่น ซึ่งได้แก่ พาราไทออน เซฟวิน ซึ่งก็ไม่เป็นที่นิยม เพราะเฟื่องฟ้าไม่ค่อยถูกแมลงเข้าทำลายสักเท่าไหร่ (สมควร  ดีรัศมี, 2542, หน้า 65-66)


เกร็ดความรู้
            1. เฟื่องฟ้าสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำดอกชุบแป้วทอดกรอบกินกับซอสหรือกินเป็นเหมือดกับขนมจีนน้ำพริก (วาสนา  พลายเล็ก, 2546, หน้า 81)
                2. ดอกเฟื่องฟ้า มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิตและระบบขับถ่าย (สรรพคุณของผัก, 2549)
                3. การเป็นมงคลเฟื่องฟ้า  คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นเฟื่องฟ้าไว้ประจำบ้าน สามารถสร้างคุณค่าของชีวิตให้สูงขึ้น เพราะเฟื่องฟ้าเป็นพรรณไม้ ที่ได้รับสมญาว่าเป็นราชินีแห่งไม้ประดับเนื่องจากสามารถนำเฟื่องฟ้าไปใช้ประโยชน์ในด้านสุนทรียภาพเพื่อประดับสวนอาคาร
บ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่างๆนอกจากนี้คนไทยโบราณยังมีความเชื่ออีกว่าเฟื่องฟ้าเป็นไม้มงคลทำสำคัญของเทศกาลตรุษจีน เพราะต้นเฟื่องฟ้าสามารถออกดอกสะพรั่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงทำให้บางคนเรียกต้นเฟื่องว่าว่าต้นตรุษจีนดังนั้นบางคนเชื่อว่า เมื่อช่วงดอกเฟื่องฟ้าบานแสดงถึง ความเบิกบาน สว่างไสว ความรุ่งเรือง ที่ก้าวไกลแห่งชีวิต (เฟื่องฟ้า, 2553)
4. ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูกเฟื่องฟ้า  เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นเฟื่องฟ้า ไว้ทางทิศตะวันออก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทั่วไปทางด้าน ให้ปลูกในวันพุธ และถ้าจะให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นสตรี เพราะเฟื่องฟ้าเป็นราชินีแห่งไม้ประดับ ดังนั้นชื่อจึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับสุภาพสตรี (เฟื่องฟ้า, 2553)


1 ความคิดเห็น: